วิถีวัฒนธรรมชุมชนคนนาหอ อ.ด่านซ้าย จ.เลย
เจ้าของผลงาน : ผศ.ดร. พยุงพร นนทวิศรุต
วันอังคาร ที่ 12 เดือน สิงหาคม พ.ศ.2557
บทคัดย่อ :
ท่ามกลางพื้นที่อันสลับซับซ้อนของขุนเขา แมกไม้ สายธารน้อยใหญ่ ได้ไหลมารวมกันสู่พื้นราบกลายเป็นลำน้ำหมัน หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตของผู้คนที่อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง และตั้งถิ่นฐานในบริเวณนี้ กว่า 400 ปีมาแล้ว
ณ พื้นที่แห่งนี้ อำเภอด่านซ้าย จ.เลย…..ถือเป็นถิ่นกำเนิดของวัฒนธรรมลุ่มน้ำหมัน โดยมีพระธาตุศรีสองรักเป็นศูนย์รวมของจิตใจ มีเจ้าพ่อกวนและเจ้าแม่นางเทียมเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ อีกทั้งยังมีการสืบสานวิถีชีวิต วัฒนธรรมลาวหลวงพระบาง ทั้งในด้านภาษา ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆ อย่างมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น
ชุมชนที่ตั้งเรียงรายตามริมน้ำหมัน ล้วนแต่มีวิถีวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพชนในการปรับตัวระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและชุมชน เฉกเช่นเดียวกันชุมชนบ้านนาหอ ตั้งอยู่ริมน้ำหมัน ห่างจากตัวอำเภอด่านซ้าย ไปทางทิศเหนือประมาณ 8 กิโลเมตร มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ถูกเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่นว่า บรรพบุรุษที่มาตั้งถิ่นฐาน ได้อพยพมาจากเมืองหลวงพระบาง-เวียงจันทน์ ตั้งถิ่นฐานครั้งแรกบริเวณใกล้ลำน้ำตับ เชิงเขาภูผาแดด ในนามหมู่บ้านบ้านโพนชาติ แล้วเคลื่อนย้ายลงมาที่บริเวณต้นมะขามโตก ชื่อบ้านหนองหมาไน ต่อมาได้ย้ายลงมาที่บริเวณต้นตาลเพื่อให้ใกล้กับลำน้ำหมัน เมื่อชุมชนมีความเป็นปึกแผ่น มีบ้านเรือนมากขึ้น จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “นาหอ หรือ นาโฮง” เพราะเคยเป็นที่อยู่ของเจ้าเมืองด่านซ้ายมาก่อน และได้สร้างวัดหอโฮง ราวพุทธศักราช 2035 ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดศรีภูมิ” จวบจนถึงปัจจุบัน