โครงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามเส้นทางวัฒนธรรมในพื้นที่นำร่อง (เทศบาลตำบลนาอ้อ อ.เมืองเลย
เจ้าของผลงาน : โดย…..องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(องค์การมหาชน) สำนักงานพื้นที
พฤหัสบดี ที่ 16 เดือน เมษายน พ.ศ.2558
บทคัดย่อ :
บทนำ การท่องเที่ยวชุมชน (Community tourism) เป็นการท่องเที่ยวที่ชุมชนเป็นผู้กำหนดกระบวนการทิศทาง และ รูปแบบการท่องเที่ยวของตนเอง ชาวบ้านทุกคนเป็นเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวนั้นๆ และมีส่วนได้ส่วนเสียที่เกิดจากการท่องเที่ยว ซึ่งการท่องเที่ยวที่จัดโดยชุมชนนั้นมีจุดขายที่หลากหลายทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต การอนุรักษ์ รวมทั้งมีการพัฒนารูปแบบเพื่อสร้างความยั่งยืนสู่คนรุ่นลูกหลานและเกิดประโยชน์ต่อท้องถิ่นโดยแท้จริง การท่องเที่ยวชุมชนจึงเป็นการจัดการท่องเที่ยวในรูปแบบหนึ่งซึ่งมุ่งเน้นให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว ได้รักษาสิ่งแวดล้อม รักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมของตนเอง ตลอดจนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวของพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งในจังหวัดเลยได้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเลย เมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2554 โดยแบ่งเขตพื้นที่พิเศษออกเป็น 4 เขต อำเภอเมืองเลยก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย อำเภอเมืองเลย อำเภอเชียงคาน และอำเภอท่าลี่ จากการนำเสนอข้อมูลขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.เลย) เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2555 ณ โรงแรมเลยพาเลซ จังหวัดเลย ชี้ให้เห็นว่าอำเภอเมืองเลยเป็นอำเภอศูนย์กลางของจังหวัดเลยที่เชื่อมโยงอำเภออื่นๆ นักท่องเที่ยวจะท่องเที่ยวเฉพาะงานเทศกาลและงานประเพณีต่างๆ ระดับจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมกระจายอยู่ในตำบลต่างๆ จึงขาดโอกาสที่จะไปท่องเที่ยว ขาดการสร้างเครือข่ายเส้นทางท่องเที่ยว และขาดปฏิทินการท่องเที่ยว ตลอดจนขาดการเผยแพร่ข้อมูล และประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนในเขตอำเภอเมืองเลย ได้มีบางพื้นที่ดำเนินการมาแล้ว อาทิเช่น ชุมชนนาอ้อ โดย 4 องค์กรหลัก ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน และท้องที่ ได้ร่วมกันอนุรักษ์ ส่งเสริม สนับสนุน และรณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจนทำให้ชุมชนนาอ้อ ได้รับการยกย่องจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติเป็น “หมู่บ้านวัฒนธรรมต้นแบบของจังหวัดเลยในปี 2542” ชุมชนนาอ้อเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ มีอายุกว่า 450 ปี ชาวบ้านมีเชื้อสายชาวลาว “เผ่าไทลื้อ” อพยพมาจากแขวงหลวงพระบางเวียงจันทน์ สปป.ลาว มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย มีการสืบสานขนบธรรมเนียม ประเพณีจากบรรพบุรุษ จากการที่ชุมชนมีอายุกว่า 450 ปี จึงมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้นและเล่าสืบต่อกันมาคือวีรกรรมบ้านน้าอ้อ เป็นเรื่องราวที่บันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคล่าอาณานิคม เมื่อบ้านนาอ้อถูกใช้เป็นที่พักของทัพฝรั่งเศสเพื่อจะยกมาตีเมืองเลย โดยใช้ศาลาการเปรียญวัดศรีจันทร์ เป็นกองบัญชาการ จากเหตุการณ์นั้นก็มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์วัดศรีจันทร์ เป็นหลักฐานสำคัญในการสืบทอดสู่เยาวชน ลูกหลาน และผู้สนใจศึกษาเรียนรู้ นอกจากนั้นยังมีหลักฐานทางโบราณคดีสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ วัดห้วยห่าว สร้างขึ้นสมัยพระโพธิสารราช (พระบิดาของพระไชยเชษฐาธิราช) ราวปี พ.ศ.2105 จุลศักราช 924 ชุมชนนาอ้อยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ เช่น ถ้ำผาปู่ วัดศรีอภัยวัน งานประเพณีบุญข้าวจี่ ชิมข้าวแดกงา เว้าจาภาษาไทเลย เป็นต้น แม้ว่าชุมชนนาอ้อ จะตั้งอยู่บนเส้นทางเลย-เชียงคานก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นที่สนใจอย่างแพร่หลายของนักท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มุ่งหน้าไปท่องเที่ยวที่อำเภอเชียงคาน แม้ว่าได้มีองค์กรต่างๆเข้ามาสนับสนุน ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเนืองๆ อย่างไรก็ตามชุมชนได้มีการขับเคลื่อนในด้านท่องเที่ยวด้วยตนเองคือ มีการรวมกลุ่มโฮมสเตย์ การรวมกลุ่มจักสาน กลุ่มทอผ้า และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถือว่าเป็นชุมชนที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามชุมชนและเทศบาลตำบลนาอ้อ ตระหนักว่าการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องสร้างความพร้อม ความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในชุมชนเพราะเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นเจ้าของวัฒนธรรม และควรพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีความมั่นคงภายใต้แผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการท่องเที่ยวชุมชนที่มีทิศทางชัดเจน เป็นไปได้โดยชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ ผนวกกับแนวคิดขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) ต้องการที่จะให้มีการบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ตลอดจนการพัฒนาตลาดการท่องเที่ยวของพื้นที่ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ดังนั้นคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ร่วมกับเทศบาลตำบลนาอ้อ ได้นำเสนอโครงการ การพัฒนาศักยภาพด้านการท่องเที่ยวชุมชนตำบลนาอ้อ อ.เมืองเลย จ.เลย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจ ความร่วมมือของชุมชนต่อการท่องเที่ยวชุมชน เสริมสร้างความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชน ตลอดจนพัฒนาแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการท่องเที่ยว เพื่อเป็นทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชนนาอ้ออย่างยั่งยืนต่อไป
วัตถุประสงค์โครงการ : ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามเส้นทางวัฒนธรรมในพื้นที่นำร่อง
(เทศบาลตำบลนาอ้อ อ.เมืองเลย)
1. เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนให้แก่ภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยว
ชุมชนตำบลนาอ้อ
2. เพื่อศึกษา สำรวจ และวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนนาอ้อ
3. เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนของพื้นที่ต่างๆ ทั้งใน และ
ต่างประเทศ
4. เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการด้านการท่องเที่ยวของชุมชนตำบลนาอ้อ
กลุ่มเป้าหมาย : ภาคีเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย ประกอบด้วยคณะกรรมการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชนตำบลนาอ้อ จำนวน 45 คน กลุ่มผู้ดูแลสถานที่ท่องเที่ยว 20 คน กลุ่มองค์กรในชุมชน 15 คน รวมจำนวน 80 คน
ขอบเขตการดำเนินโครงการ (มกราคม 2558 -สิงหาคม 2558)
พื้นที่ในการดำเนินโครงการคือ พื้นที่ตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ประกอบด้วย 9
หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านนาอ้อ หมู่ 1, หมู่ 2 หมู่ 3 , หมู่ 5, หมู่ 7, หมู่ 9, หมู่ 4 บ้านท่ามะนาว , หมู่ 6 บ้านโพน และหมู่ 8 บ้านหนองมะผาง
กิจกรรมของโครงการ ประกอบด้วย
1. อบรมเชิงปฏิบัติการสร้างเสริมความรู้และความเข้าใจในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน
2.ปฏิบัติการร่วมกับชุมชนในการจัดกิจกรรมการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเพื่อ
สร้างคุณค่าประวัติศาสตร์ พิธีกรรม ความเชื่อ ประเพณีในชุมชน
3. สำรวจองค์ความรู้แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนนาอ้อประเภทต่างๆ ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวทาง
ประวัติศาสตร์และโบราณคดี แหล่งท่องเที่ยวทางสถาปัตยกรรม แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ แหล่งท่องเที่ยวทางความเชื่อ และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน
4. ศึกษาดูงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนทั้งในและต่างประเทศเพื่อศึกษาการ
บริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวชุมชน
5. ประชุมภาคีเครือข่ายเพื่อระดมความคิดในเรื่องปัญหาชุมชน อุปสรรค ศักยภาพของ
ชุมชนในการจัดการท่องเที่ยว การจัดทำแผนยุทธศาสตร์ราย 3 ปี และแผนปฏิบัติการรายปี
ดาวน์โหลด ( บทคัดย่อ)